วันอาทิตย์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ผักใหม่โครงการหลวง วิจัยแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

6สุกัญญา ศุภกิจอำนวยมูลนิธิโครงการหลวง หน่วยงานที่ให้ความสำคัญ กับการวิจัยและพัฒนา พันธุ์พืชผัก-ผลไม้อย่างต่อเนื่อง ทุกๆ ปีจะมีผลผลิตหน้าตาแปลกๆ ออกสู่ตลาด เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา ราคาผลผลิตตกต่ำ ทดแทนการนำเข้า ปีนี้ก็เช่นกัน ผัก 6 ชนิด ออกมาอวดโฉม ในซูเปอร์มาร์เก็ต ภายใต้เครื่องหมายการค้า 'ดอยคำ' งานด้านการวิจัยและพัฒนา จัดเป็นวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวง โครงการส่วนพระองค์ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2512 นับถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 35 เพื่อวิจัยพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่สูง ทดแทนพืชเสพติดซึ่งเคยเป็นปัญหาในอดีต การนำเกษตรกรมาเข้าร่วมโครงการ ยังช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้กับพวกเขา ปัจจุบันโครงการหลวงมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกินพื้นที่หลายหมื่นไร่ กระจายตามศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 37 แห่ง ครอบคลุม 5 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยมีสถานีวิจัย 4 แห่ง ที่อ่างข่าง ปางดะ อินทนนท์ และขุนวาง ผลจากการวิจัยและพัฒนา ทำให้ทุกๆ ปี โครงการหลวงสามารถวิจัยพืชผักเมืองหนาวใหม่ๆ ออกสู่ตลาดไม่ขาด ภายใต้เครื่องหมายการค้า 'ดอยคำ' ผ่านช่องทางการจำหน่ายในร้านดอยคำ และซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่เกือบทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น แม็คโคร โลตัส คาร์ฟูร์ ท็อปส์ถือเป็นการผูกการผลิตไว้กับการตลาดไว้อย่างครบครันในปีนี้ก็เช่นกัน โครงการหลวงได้เปิดตัวผักใหม่ 6 ชนิด ได้แก่ แตงหอม, ดอกกุยช่ายไต้หวัน, มะระหยกดอยคำ, มะเขือเทศเชอรี่เหลือง, แตงกวายุโรป และคะน้าเห็ดหอม ในงานโครงการหลวงเฉลิมพระเกียรติมหาราชินีนาถ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดีอัญชัญ ชมภูพวง นักวิชาการผัก หัวหน้าโครงการงานวิจัยผักใหม่ โครงการหลวง บอกว่า สาเหตุหนึ่งของการวิจัยผักใหม่ทดแทนผักชนิดเดิมๆ เพื่อต้องการแก้ปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มค่าในการลงทุนของเกษตรกร อีกทั้งต้องการสร้างความหลากหลายให้กับผู้บริโภค'ของเดิมปลูก เกษตรกรต้องใช้พื้นที่มาก ขาดทุนไม่คุ้มค่าปุ๋ย ยา พอโครงการหลวงพัฒนาพืชผักใหม่ ทำให้เกษตรกรใช้พื้นที่ปลูกน้อยลง ปลูกผักที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น' ทุกครั้งที่มีการพัฒนาผักใหม่ จะสามารถขยับราคาขายเพิ่มขึ้น 20-30% เลยทีเดียว เธอบอกพืชผักเหล่านี้ยังทดแทนการนำเข้าผักเมืองหนาว ซึ่งมีราคาสูงเมื่อเทียบกับราคาจำหน่ายผักของโครงการหลวง ทว่ากว่าจะวิจัยผักใหม่ๆ ได้แต่ละสายพันธุ์ กลับไม่ใช่เรื่องง่าย กินเวลาในการวิจัยไปจนถึงนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกจนสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อย่างน้อย 2 ปี บางสายพันธุ์พัฒนานานถึง 3 ปีนักวิจัยจึงต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมากเพื่อรอคอยความสำเร็จเธอ เล่าว่า ขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากการนำเข้าพันธุ์ผักจากต่างประเทศ ในสายพันธุ์ที่ต้องการนำมาวิจัยและพัฒนาให้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ภาคเหนือของไทย ด้วยการทดสอบสายพันธุ์ โดยการนำไปปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่มีความสูงแตกต่างกันจากระดับน้ำทะเล และในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน เพื่อสังเกตความเหมาะสมด้านผลผลิต รสชาติ สีและขนาด ก่อนจะสรุปว่าพื้นที่ใดเหมาะสมต่อการเพาะปลูกมากที่สุด 'เราต้องทดลองปลูกหมดเป็นคอร์พ ในหน้าร้อน หนาว ฝน จนพบว่าการปลูกผักในหน้าหนาวช่วงเดือน พ.ย.-ก.ย.ผักจะปลูกง่ายและมีคุณภาพดี ต่างกับเมื่อเข้าหน้าร้อนหรือฝน คุณภาพผลผลิตจะต่ำ โดยเฉพาะในหน้าฝนจะต้องมีเทคนิคการเพาะปลูกภายใต้โรงเรือน' ในขั้นตอนการเพาะปลูก เจ้าหน้าที่จะต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกให้กับตัวแทนเกษตรกร 4-5 คน ก่อนที่พวกเขาจะกระจายความรู้ที่ได้รับไปยังเกษตกรรายอื่น โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในทุกขั้นตอนการเพาะปลูกตั้งแต่การเตรียมปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ ให้เป็นไปตามแผนการผลิตของโครงการหลวงเธอยังไล่เรียงถึงผักใหม่ทั้ง 6 ชนิด ซึ่งโครงการหลวงภูมิใจนำเสนอออกสู่ตลาด เริ่มจาก มะเขือเทศเชอรี่เหลือง ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เนื่องจากปกติจะมีสีแดง ซึ่งมีจำหน่ายอยู่เกลื่อนตลาด ทำให้ราคาจำหน่ายต่ำมาก ทำอย่างไรจะทำให้แหวกแนว ?เรื่อง 'สี' และ 'รสชาติ' เป็นคำตอบที่ได้ จนเป็นที่มาของ มะเขือเทศเชอรี่เหลือง รสชาติหวาน กรอบ เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากเพราะไม่มีคู่แข่งขัน โดยปัจจุบันปลูกอยู่ในระดับความสูง 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงอินทนนท์และขุนวางคะน้าเห็ดหอม เป็นคะน้าซึ่งมีลักษณะแปลกไป ก้านใหญ่ อวบ ใบมีกิ่งหยักเห็ดหอม ซึ่งปรับปรุงพันธุ์มาจากคะน้าจีน ปัจจุบันโครงการหลวงได้พัฒนาพันธุ์ทั้งคะน้าฮ่องกง และคะน้ายอดดอยคำ แต่กลับพบว่า คะน้าเห็ดหอมมีรสชาติดีกว่าคะน้าทั่วไป ซึ่งใช้เวลาพัฒนาพันธุ์ไม่นาน เนื่องจากเป็นการต่อยอดงานวิจัยคะน้าเดิมที่มีอยู่ งานวิจัยคะน้าเห็ดหอมยังพบว่า การปลูกคะน้าในที่สูงจะทำให้ไฟเบอร์ (กากใย) น้อยลง เนื่องจากในพื้นที่ที่มีอากาศเย็นจะทำให้การเปลี่ยนน้ำตาลเป็นแป้งทำได้ช้ากว่าแตงหอม ใช้เวลาทดสอบสายพันธุ์นานถึง 3 ปี ทั้งสายพันธุ์อิตาลี สหรัฐ ญี่ปุ่น และไต้หวัน กว่าจะสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ โดยสรุปที่จะใช้สายพันธุ์จากญี่ปุ่นและไต้หวันมาผสมกัน พันธุ์ที่นำมาปลูกชอบอากาศเย็น ต่างจากแตงส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพืชกึ่งร้อนกึ่งหนาว แตงหอมที่พัฒนาขึ้นจะมีกลิ่นหอม รสหวาน ผิวเป็นตาข่ายลายนูน ขนาด 1.2 -1.5 กก.ต่อผล ปลูกอยู่บนพื้นที่สูง 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่'แตงหอมสายพันธุ์ญี่ปุ่นจะให้ผลผลิตขนาดใหญ่มากหนักเกือบ 2 กก. ซึ่งเราคิดว่าใหญ่เกินไปที่จะรับประทานครั้งเดียวหมด จึงวิจัยให้มีขนาดเล็กลงสามารถทานครั้งเดียวหมด เหมือนกับความพยายามที่จะวิจัยพันธุ์ฟักทองอยู่ในขณะนี้ที่กำลังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก'ดอกกุยช่ายไต้หวัน เป็นผักที่คนไทยรู้จักมานาน แต่คุณภาพของกุยช่ายที่ขายกันอยู่ตามท้องตลาดมีจะก้านแข็ง เหนียว เคี้ยวไม่ขาด ที่มักเรียกกันว่า 'ดอกไม้กวาด' แต่กลับเป็นผักที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการลดคอเลสเตอรอลในเลือด แต่คนไม่ชอบทานเพราะแข็งนี่คือโจทย์ที่นักวิจัยโครงการหลวงต้องตีให้แตกพันธุ์กุยช่ายไต้หวันของโครงการหลวง เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์กุยช่ายไต้หวัน ซึ่งสามารถแก้ขจัดปัญหาที่เกิดขึ้นให้หมดไป ปลูกอยู่ที่ความสูง 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนสถานีวิจัยหลวงปางดะ 'เราวิจัยพบว่า ถ้านำกุยช่ายไต้หวันไปปลูกในพื้นที่สูงมาก จะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50% เพราะกุยช่ายเป็นพืชกึ่งร้อนกึ่งหนาวนิดๆ พันธุ์นี้ใช้เวลาวิจัยไม่นานเพราะเป็นพืชที่มีอยู่ในบ้านเราอยู่แล้ว พื้นที่ 5-6 ไร่ ให้ผลผลิตมากถึงสัปดาห์ละ 2 ตัน โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ดอกกุยช่ายยังใช้ทำดอกไม้ประดับได้'มะระหยกดอยคำ เป็นพันธุ์ที่โครงการหลวงพัฒนาต่อยอดจากมะระขาว ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่โครงการหลวงพัฒนาอยู่แล้วมาผสมกับพันธุ์ไต้หวัน ให้สีเขียว ความขมน้อยกว่า รสชาติดีกว่า สีเขียวยังให้คลอโรฟิลด์เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ปลูกอยู่ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก สูงจากระดับน้ำทะเล 500-600 เมตร มีกำลังการผลิต 500 กก.ต่อสัปดาห์แตงกวายุโรป จะแตกต่างจากแตงกวาญี่ปุ่น ซึ่งมีผิวเป็นตุ่ม แตงกว่ายุโรปผิวจะเรียบมีทั้งขนาดผลสั้นและผลยาว พื้นที่เดิมปลูกอยู่ในแถบยุโรป ปลูกมากในฮอลแลนด์ รสชาติกรอบให้ความหวานค่อนข้างดี ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างทดสอบพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม ผลผลิตจึงยังไม่นิ่ง ประมาณ 500 กก.ต่อสัปดาห์ ปลูกอยู่ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงดอยอินทนนท์ และแม่สาใหม่

ไม่มีความคิดเห็น: